ฉลากเขียว (green label หรือ eco-label) สัญญลักษณ์ที่ให้มากกว่าคำว่า คุณภาพ
เพราะทุกชีวิตมีคุณค่า และเพราะสิ่งแวดล้อมมีชีวิต ร่วมผลักดันให้ผู้ผลิตใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการผลิตที่สะอาด
“ฉลากเขียว” คือ ฉลากที่ให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน
ข้อดีของการมีฉลากเขียวติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ก็คือ ใช้เป็นเครื่องหมายให้กับผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นเน้นคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคจะได้เลือกซื้อถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ในส่วนผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายจะได้รับผลประโยชน์ในแง่กำไรเนื่องจากมีการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมากขึ้น ผลักดันให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ต้องแข่งขันกันปรับปรุงคุณภาพของสินค้าหรือบริการของตนในด้านเทคโนโลยีโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการยอมรับของประชาชน และส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ผลิตเองในระยะยาว ฉลากเขียวจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยป้องกันรักษาธรรมชาติผ่านทางการผลิตและการบริโภคของประชาชน
“ฉลากเขียว” นั้นเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 และได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภคชาวเยอรมันเป็นอย่างดี ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ มากกว่า 20 ประเทศได้มีการจัดทำโครงการฉลากเขียว
“ฉลากเขียว”ของประเทศไทย ริเริ่มขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD) เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 และได้รับความเห็นชอบและความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ปฏิบัติออกมาเป็นรูปธรรม จึงนับว่าเป็นฉลากสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างส่วนราชการ และองค์กรกลางต่าง ๆ โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยทำหน้าที่เป็นเลขานุการ
“ฉลากเขียว”เกิดขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานอิสระที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีความเป็นกลาง เชื่อถือได้ ตลอดจนดูแลควบคุมคุณภาพทางสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและป้องกันมลพิษที่อาจเกิดขึ้นตลอดทั้งวัฎจักรชีวิต อย่างเป็นระบบและโปร่งใส เนื่องจาก สินค้าสีเขียว ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดในปัจจุบันเกิดจากการประชาสัมพันธ์ของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายโดยอิสระเท่านั้น
แนวคิดของฉลากเขียว
“ฉลากเขียว” เป็นฉลากที่ออกให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ผ่านการประเมินและตรวจสอบว่าได้มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดที่ทางคณะกรรมการนโยบายและบริหารงานฉลากเขียวประกาศใช้
เป็นการสมัครใจของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้ให้บริการ ที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีทางด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้บริโภค โดยการแนะนำผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และกระตุ้นให้มีการบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากขึ้น
กระตุ้นให้กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิต หันมาใช้เทคโนโลยีสะอาดเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
กระตุ้นให้รัฐบาลและเอกชน ร่วมมือกันฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหามลภาวะด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค
วัตถุประสงค์ของฉลากเขียว
วัตถุประสงค์หลักของฉลากเขียว มาจากแนวความคิดและความต้องการให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้
ลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมโดยรวมภายในประเทศ
ให้ข้อมูลที่เป็นกลางต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน
ผลักดันให้ผู้ผลิตใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการผลิตที่สะอาด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ทั้งนี้ เพื่อส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ผลิตเองในระยะยาว
ผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว
ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกให้ออกข้อกำหนดสำหรับขอรับฉลากเขียว ได้แก่
ผลิตภัณฑ์พลาสติกแปรใช้ใหม่
หลอดฟลูออเรสเซนซ์
ตู้เย็น
สี
เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก: โถส้วม
แบตเตอรี่ปฐมภูมิ
เครื่องปรับอากาศ
กระดาษ
สเปรย์
ผลิตภัณฑ์ซักผ้า
ก๊อกน้ำและอุปกรณ์ประหยัดน้ำ
คอมพิวเตอร์
เครื่องซักผ้า
ฉนวนกันความร้อน
ฉนวนยางกันความร้อน
มอเตอร์
ผ้าและผลิตภัณฑ์ทำจากผ้า
บริการซักน้ำและซักแห้ง
แชมพู
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดถ้วยชาม
น้ำมันหล่อลื่น
เครื่องเรือนเหล็ก
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ยางพารา
บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์
สบู่
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นผิว
ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด
เครื่องถ่ายเอกสาร
สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
เครื่องเขียน
ตลับหมึก
ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ
สีเคลือบกระเบื้องมุงหลังค
โทรศัพท์มือถือ
เครื่องโทรสาร
รถยนต์นั่ง
เครื่องรับโทรทัศน์
เครื่องพิมพ์
เครื่องเล่น/บันทึกสัญญาณภาพและเสียง
แผ่นอัดสำหรับงานอาคาร ตกแต่งและอุตสาหกรรมเครื่องเรือน
กระเบื้องซีเมนต์มุงหลังคา
เครื่องดับเพลิง
กระเบื้องดินเผามุงหลังคา
กระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา
แผ่นยิปซัม
ท่อประปาพลาสติกประเภทพอลิเอทิลีน
ซีเมนต์บอร์ด
กระเบื้องเซรามิกปูพื้น/บุผนัง
หลังคาและฝาครอบอเนกประสงค์สำหรับยานพาหนะ
ปั๊มความร้อน
พัดลม
รถจักรยานยนต์
ยางรถจักรยานยนต์
ยางรถยนต์
วัสดุก่อผนัง
พรม
เตาไมโครเวฟ
กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า
หม้อหุงข้าวไฟฟ้า
เครื่องเรือน (furniture)
แบตเตอรี่รถยนต์
เครื่องดูดฝุ่น
แบตเตอรี่ทุติยภูมิสำหรับการใช้งานแบบพกพา
ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปชุดบานประตู ชุดบานหน้าต่างพร้อมวงกบ
ดวงโคมไฟฟ้าสำหรับหลอดฟลูออเรสเซ็นซ์ขั่วคู่
สถานีบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่น
กระจกสำหรับอาคารกระจกเปลือกอาคาร
วัสดุตกแต่งพื้น ประเภทยาง
วัสดุตกแต่งพื้นประเภทพลาสติก
เครื่องเป่ามือ
พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ
วัสดุตกแต่งผนังภายใน
ปัจจัยที่ใช้พิจารณาเพื่อออกข้อกำหนด
ข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ที่กำหนดขึ้น จะแตกต่างไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์และความเสียหายของสิ่งแวดล้อมในแง่มุมต่าง ๆ ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์นั้น ๆ โดยทั่วไปจะคำนึงถึง
• การจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งที่เป็นทรัพยากรหมุนเวียน (renewable resources) และทรัพยากรไม่หมุนเวียน (nonrenewable resources)
• การลดภาวะมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ โดยส่งเสริมให้มีการผลิต การขนส่ง การบริโภค และการกำจัดทิ้งหลังใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ
• การนำขยะมูลฝอยทั่วไปและขยะอันตรายกลับมาใช้ซ้ำ (reuse) หรือ แปรสภาพกลับมาใช้ใหม่ (recycle)